มาจู่ vs จุยบวยเนี้ยเจ้าแม่ทับทิมเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

ความเชื่อเรื่องเทพ เทวดา ผีสาง และสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่แทบจะทุกภูมิภาคของโลก มีเรื่องราวอันเป็นเอกลักษณ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนที่เป็นเจ้าของกำเนิดเรื่องราวนั้นๆ และเมื่อมีการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คน นอกจากปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดำรงชีวิตแล้ว สิ่งที่ผู้อพยพเอาติดตัวมาด้วยก็คือความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างและผ่านเวลามายาวนาน เรื่องราวความเชื่อบางเรื่องก็ถูกบิดเบือนให้ต่างไปจากเดิม รวมทั้งอาจมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วย เช่นเดียวกับความเชื่อเรื่อง ‘แม่ย่านาง’ ที่คนไทยนับถือ ซึ่งต้นกำเนิดความเชื่อนี้มาจากเทพนารีจีนองค์สำคัญที่ชื่อ ‘เจ้าแม่ทับทิม’

นามเจ้าแม่ทับทิมที่คนไทยเรียก ไม่ได้แปลตรงตัวจากชื่อเทพต้นกำเนิดจากภาษาจีน แต่มาจากลักษณะเด่นที่เห็นเมื่อมีการสร้างเทวรูปบูชา คือมีเครื่องทรงสีแดงทับทิม เจ้าแม่ทับทิมมีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะที่เป็นเทพแห่งการเดินเรือ แต่เมื่อสืบสาวหาต้นกำเนิดเทพคุ้มครองทางเรือของชาวจีนที่บูชากันอยู่ทั่วไปกลับมีถึง 2 องค์ คือ มาจู่ เทพของจีนมณฑลฮกเกี้ยนและ จุยบวยเนี้ย เทพของจีนไหหลำ เนื่องจากเทพทั้งสององค์มีลักษณะคล้ายกัน อีกทั้งยังเป็นเทพที่เกี่ยวกับแม่น้ำเช่นกัน ทำให้คนไทยเกิดความสับสนจึงเรียกเทพทั้งสององค์นี้รวมกันว่าเจ้าแม่ทับทิม วันนี้เราจะพามาสืบสาวประวัติเทพนารีทั้งสององค์นี้กัน

พระแม่มาจู่ (Goddess of the Sea)

เป็นเทพประจำของจีนมณฑลฮกเกี้ยน ก่อนจะแพร่กระจายความศรัทธาไปทั่วแผ่นดินจีนและทั่วโลก ได้รับการสถาปนาจากฮ่องเต้ ราชวงศ์ ซ่ง หยวน หมิง และชิง พระแม่มาจู่มีชื่อที่หลากหลาย คือ หลินสื้อหนี่ว์ (หญิงแซ่หลิน) หลงหนี่ว์ (นางมังกร) หลิงหนี่ว์ (นางผู้มีฤทธิ์) เสินหนี่ว์ (เทพนารี) หลินม่อ (แซ่หลิน, ชื่อตัว ม่อ แปลว่านิ่งเงียบ) หลินฟูเหญิน (ท่านผู้หญิงแซ่หลิน) เทียนเฟย (พระชายาสวรรค์) เทียนโฮ่ว (พระราชินีสวรรค์) เทียนซ่างเซิ่งหมู่ (พระแม่เจ้าแห่งสรวงสวรรค์) แต่อย่างไรก็ตามชื่อ มาจู่ เป็นชื่อที่แพร่หลายที่สุด โดยชื่อนี้มาจากภาษาฮกเกี้ยนซึ่งเป็นถิ่นฐานของพระแม่มาจู่ มีความหมายว่า หญิงสูงอายุผู้มีคุณธรรมสูง
ประวัติของมาจู่มีความเห็นเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายแรกว่ามาจู่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ อีกฝ่ายว่าเป็นเทพีแห่งมหาสมุทรที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง แต่ความเห็นที่สองไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เพราะมีบันทึกเก่าตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งแสดงให้เห็นว่ามาจู่มีตัวตนอยู่จริง เป็นคนอำเภอผู่เถียน มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) เมื่อมารดาของมาจู่ตั้งครรถ์ฝันว่าพระกวนอิมเอาดอกไม้มาให้ เมื่อคลอดมีกลิ่มหอมอบอวลไปทั่วเมือง เฉลียวฉลาดตั้งแต่ยังเยาว์ ทั้งยังสามารถถอดจิตไปช่วยเหลือพี่ชายที่ออกทะเลหาปลาได้ มาจู่ยังแสดงอิทธิฤทธิ์อีกหลายอย่าง เช่น ช่วยทูตจีนที่เดินทางไปเกาหลีให้รอดจากเรือแตก, บันดาลให้เกิดลมขับไล่เรือโจรสลัดที่มาปล้นสะดมคนจีน, ช่วยทัพหลวงปราบโจร, ช่วยการขนส่งทางทะเลของทางการ ดังนั้นผู้คนจึงเลื่อมใสศรัทธาในมาจู่ ตั้งศาลเพื่อกราบไหว้ขอพรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มาจู่ล่วงลับเมื่ออายุยี่สิบกว่าปี และด้วยคุณูปการของท่าน ผู้คนจึงเรียกว่า มาจู่ ซึ่งแปลว่า พระแม่ย่า เป็นคำเรียกด้วยความเคารพอย่างสูง
อนึ่งชาวเรือเรียกพระแม่มาจู่ว่า ฉวนโถวเหนียง แปลว่า พระแม่หัวเรือ เชื่อกันว่าท่านสถิตอยู่บริเวณหัวเรือ ตรงกับความเชื่อเรื่องแม่ย่านางของไทย ดังนั้นพระแม่มาจู่นี้เอง จึงเป็นที่มาของความเชื่อเรื่องแม่ย่านางของไทย

พระแม่จุยบวยเนี้ย (Goddess of the Water Front)

จุยบวยเนี้ย พระแม่ท้ายน้ำ เทพนารีองค์สำคัญของไหหลำ ชื่อตามเสียงพูดของชาวไหหลำคือ ตุยบวยเต้งเหนี่ยง ชื่อในภาษาจีนกลางคือ สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง ตำนานเกี่ยวกับจุยบวยเนี้ยเริ่มขึ้นบนเกาะไหหลำ รัชสมัยจักรพรรดิเจิ้งเต๋อแห่งราชวงศ์หมิง มีชายชาวประสงแซ่พานออกหาปลา วันหนึ่งมีท่อนไม้มาติดแหหาปลาของเขา เขาจึงโยนมันทิ้งลงแม่น้ำ แต่แล้วเมื่อลากแหอีกครั้งท่อนไม้นั้นก็ติดแหขึ้นมาอีก เขาจึงเชื่อว่ามันเป็นท่อนไม้วิเศษ จึงอธิษฐานกับท่อนไม้ว่าขอให้เขาหาปลาได้เยอะๆ แล้วเขาจะนำท่อนไม้นี้ไปแกะสลักเพื่อเอาไว้บูชา แล้วคำอธิษฐานของชายแซ่พานก็สัมฤทธิ์ผล เขาจึงเอาท่อนไม้กลับมาบ้าน แต่เขาก็ลืมคำสัญญาที่ให้กับท่อนไม้เสียสนิท โดยทิ้งท่อนไม้ไว้ข้างคอกหมู วันต่อมาหมูของเขาก็ตายอย่างไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้เพื่อนบ้านของชายแซ่พานยังบอกว่าเขาเห็นหญิงสาวนั่งอยู่บนต้นลำไยใกล้บ้านของชายแซ่พานอีกด้วย ชายแซ่พานจึงจำคำสัญญาที่เขาเคยให้ไว้กับท่อนไม้ได้ เขาจึงบอกเรื่องราวเกี่ยวกับท่อนไม้ให้เพื่อนบ้านฟัง จากนั้นเพื่อนบ้านก็ช่วยกันแกะสลักท่อนไม้เป็นเทวรูปและระดมทุนระดมแรงสร้างศาลขึ้น ก่อนสร้างพวกเขาไม่รู้ว่าควรสร้างศาลที่ไหน ทันใดนั้นก็มีเด็กชายคนหนึ่งมาชี้บอกตำแหน่งที่ควรจะสร้างศาลซึ่งเป็นหมู่บ้านท้ายน้ำ ชาวบ้านจึงขนามนามเทพีองค์นี้ว่า สุยเหว่ยเซิ่งเหนียง แปลว่า เจ้าแม่ท้ายน้ำ เรื่องราวท่อนไม้ที่ชื่อจุยบวยเนี้ยแพร่กระจายไปทั่วเกาะไหหลำ ทำให้เป็นที่เคารพบูชาของชาวประมงว่าช่วยให้จับปลาได้มากและช่วยคุ้มครองในการเดินเรือ

มาจู่ vs จุยบวยเนี้ย เจ้าแม่ทับทิมเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน?
บางเอกสารกล่าวว่าเทพนารีสององค์นี้อาจจะมีที่มาจากเทพดั้งเดิมองค์เดียวกันก่อนจะแยกเป็นสององค์ในภายหลัง แต่ชาวจีนไหหลำรวมทั้งชาวจีนในไทยก็ถือว่าเป็นคนละองค์กัน โดยในยุคสมัยที่มีการค้าขายระหว่างไทยกับจีนด้วยเรือสำเภา ทั้งชาวไหหลำและชาวฮกเจี้ยนได้เข้ามาเป็นคู่ค้าของไทยทั้งคู่ และต่างก็สักการบูชาเทพนารีที่ตนนับถือ ด้วยความที่พระแม่มาจู่และพระแม่จุยบวยเนี้ย มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ คือ เป็นเทพีที่ปกป้องคุ้มครองทางเรือเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีการฉลองพระองค์สีแดง มีรัตนชาติประจำองค์เป็นพลอยสีแดงทั้งสององค์ จึงทำให้คนไทยเกิดความสับสนว่าเป็นองค์เดียวกัน และเรียกว่าเจ้าแม่ทับทิมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความคล้ายคลึงกันหลายประการ แต่ก็มีข้อแตกต่างที่ทำให้สามารถแยกเทพีทั้งสององค์ออกจากกันได้ ดังนี้
พระแม่มาจู่ มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ มีสุสานอยู่ที่เกาะเหมยโจว ต้นกำเนิดมาจากจีนมณฑลฮกเกี้ยน เป็นเทพที่มีผู้เคารพบูชาแพร่หลาย มีศาลมากกว่า 1500 แห่งแพร่กระจายกว่า 26 ประเทศ มาจู่ได้รับการสถาปนาจากฮ่องเต้ ดังนั้นศาลเจ้าและรูปลักษณ์ของมาจู่จึงมักแต่งองค์ยิ่งใหญ่ บางทีคล้ายจักรพรรดินี ในมือถือป้ายอาญาสิทธิ์ มีบริวารคือเทพหูทิพย์และตาทิพย์ นอกจากนี้ยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กวนอิม ในบริเวณศาลเจ้าจึงอาจมีรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิมอยู่ด้วย
พระแม่จุยบวยเนี้ย ไม่มีตัวตนจริง เป็นเทพพื้นถิ่นของชาวไหหลำ ศาลเจ้าและรูปลักษณ์จึงมักแต่งองค์แบบหญิงงามธรรมดา ไม่ถืออะไรในมือ หรือบางทีอาจถือแส้ คฑาบ้างในมือขวา ไม่มีบริวาร หรืออาจมีองครักษ์เป็นชาย 2 หญิง 2

​การได้รู้จักและสามารถแยกแยะพระแม่มาจู่และพระแม่จุยบวยเนี้ยออกจากกันได้นับว่ามีความสำคัญในการทำความเข้าใจความเชื่อและต้นกำเนิดของแม่ย่านางไทย แต่ถึงแม้จะแยกออกจากกันไม่ได้แล้วอย่างไร ไม่ว่าเจ้าแม่ทับทิมที่ต่างคนต่างเรียกขานและกราบไหว้จะหมายถึงเทพีองค์ไหน ความศรัทธาและความสำคัญในข้อที่ว่าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจก็ยังมีคุณค่าไม่มากขึ้นหรือน้อยลงจากเดิมนั่นเอง

บทความล่าสุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

Scroll to Top